มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ชื่อเต็มตามภาษาประจำชาติ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม์
ตัวย่อของมหาวิทยาลัย มมส (MSU)
เว็บไซต์ https://inter.msu.ac.th/
ผู้ประสานงานโครงการของสถาบัน นางสาวศิเรมอร ประทุมทิพย์
อีเมล siremorn.p@msu.ac.th
Telephone +6643754241

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีความก้าวหน้า ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยมีทำเลตั้งอยู่ใจกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา มีภาพลักษณ์ระดับ world-class มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและโครงการที่มีความยั่งยืนมากมาย มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีความภาคภูมิใจในความเป็นเลิศทางวิชาการและการวิจัยมายาวนาน ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคามตระหนักถึงพันธะกิจในการรับใช้ต่อโลกแห่งทุนการศึกษา นิสิตและศิษย์เก่า รวมถึงต่อวิชาชีพและสังคม มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยและได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เติบโตอย่างรวดเร็วในระดับโลก โดยเป็นมหาวิทยาลัยที่ริเริ่มดำเนินการในหลายๆ สิ่ง อาทิ เป็นมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวของไทยที่เปิดสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) และ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขาวิชาบรรพชีวินวิทยา และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน (เขมร) เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาการบัญชีและหลักสูตรที่สองเพื่อเริ่มต้นปริญญาเอกในสาขาเดียวกัน เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศที่ก่อตั้งคณะวัฒนธรรมศาสตร์ และเป็นมหาวิทยาลัยไทยแห่งแรกที่เข้าร่วมโปรแกรม Microsoft Regional Campus IT นอกจากนี้ คณะศึกษาศาสตร์ของเรายังได้รับการโหวตให้เป็นคณะศึกษาศาสตร์ที่ดีที่สุดของประเทศไทยโดยสำนักงานการศึกษาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ก่อตั้ง American Corner และ ศูนย์อาเซียนศึกษา ขึ้น ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และยังมีพิพิธภัณฑ์เห็ดสมุนไพรแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียที่เรียกว่า “พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา” ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับการขยายและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเห็ดสมุนไพรธรรมชาติ ทั้งนี้ คุณภาพระดับโลกของมหาวิทยาลัยมหาสารคามนั้นมีความชัดเจนตามที่องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งได้จัดอันดับไว้ อาทิ URAP, QS Asian University Ranking, SCImago Institutions Ranking (SIR) World Report, UI GreenMetric World Universities Ranking, Webrometric, 4icu Web Popularity Ranking, Alexa Web Ranking, และ Times Higher Education ซึ่งความสำเร็จนี้แสดงให้เห็นว่าในอนาคตอันใกล้นี้ มหาวิทยาลัยมหาสารคามจะสร้างการยอมรับที่โดดเด่นในระดับประเทศและระดับโลก

นางสาวศิเรมอร ประทุมทิพย์ หัวหน้างานบริการบุคลากรและความร่วมมือ สังกัด กลุ่มงานกิจการต่างประเทศ กองประชาสัมพันธ์และกิจการต่างประเทศ จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี พ.ศ. 2554 หลังจากจบการศึกษาแล้วได้เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานการตลาดที่ บริษัท ฟอร์ตือเน่ จำกัด และย้ายมาทำงาน ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ. 2548 จนกระทั่งปัจจุบัน ในฐานะหัวหน้างานบริการบุคลากรและความร่วมมือ ได้ดูแลงานเกี่ยวกับการจัดทำสัญญาจ้าง วีซ่า ใบอนุญาตทำงาน ประกันสังคม ของบุคลากรชาวต่างชาติ และการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ จัดประชุมพบปะระหว่างผู้บริหารและอาคันตุกะต่างชาติ ร่วมถึงการรวบรวมข้อมูลเพื่อขอรับการจัดอันดับจาก Times Higher Education

นางสาวจีรนันท์ สุทธิจันทร์ ปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้างานบริการนิสิต สังกัด กลุ่มงานกิจการต่างประเทศ กองประชาสัมพันธ์และกิจการต่างประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 โดยก่อนหน้านี้ได้ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ และปฏิบัติงานในฐานะผู้ช่วยเลขานุการ สภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (สควทท.) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นระยะเวลา 4 ปี และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยศรีปทุม เมื่อปี พ.ศ. 2547 มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลนิสิตแลกเปลี่ยนระยะสั้นทั้งขาเข้าและขาออก และประสานงานการให้ทุนนิสิตฝึกงานรวมถึงการรับเข้านิสิตนานาชาติ

นายเฉลิมชน ภูสมศรี นักวิเทศสัมพันธ์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ. 2554 เคยมีประสบการณ์ในการทำงานกับบริษัทและหน่วยงานราชการมาก่อนจะเริ่มต้นทำงาน ณ กลุ่มงานกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ. 2556 ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานนโยบายและส่งเสริมภาพลักษณ์ โดยก่อนหน้านี้ได้รับผิดชอบจัดทำวีซ่าทำงาน ใบอนุญาตทำงาน และประกันสังคม ของบุคลากรชาวต่างชาติ จากนั้น ได้รับผิดชอบงานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามและมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มกิจกรรมภายใต้ความร่วมมือสำหรับนิสิต อาจารย์และบุคลากร โดยก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้างานวิเทศสัมพันธ์ เป็นระยะเวลา 1 ปี นั้น ได้ควบคุมดูแลงานของกลุ่มงานกิจการต่างประเทศทั้งหมด ได้แก่ งานบริการนิสิต งานความร่วมมือ งานทุนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีและงานอื่นๆ